- ประเทศต้องเดินหน้าได้Posted 8 hours ago
- เด็กไทยต้องทำชีวิตก้าวหน้าPosted 1 day ago
- ยุคทะเลเดือดPosted 2 days ago
- รวยลัดเป็นเปลวนรกPosted 3 days ago
- คนทำบุญลดลงPosted 6 days ago
- ใช้สติปัญญาสู้ปัญหาPosted 1 week ago
- คนดีต้องไม่โกงPosted 1 week ago
- หมูเด้งแซงหน้ารัฐบาลPosted 1 week ago
- ผีซ้ำด้ำพลอยPosted 1 week ago
- ถ้าผลงานเข้าตาไม่มีใครไล่Posted 2 weeks ago
ทุนนิยมโดยรัฐมีในรัฐประชาธิปไตยไหม? / โดย เรืองยศ จันทรคีรี
คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร
ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี
สัปดาห์นี้ไม่มีหัวข้อใดเหมาะสมไปกว่าเรื่อง State Capitalism อย่างน้อยก็เห็นใครต่อใครเรียกร้องให้รัฐบาลจัดตั้ง “บรรษัทพลังงานแห่งชาติ” โดยบรรจุใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม
ผมเองไม่สู้ชำนาญ คือมีความรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์แบบงูๆปลาๆ คงต้องเลี่ยงการกล่าวถึงด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งถ้ามองย้อนไปในอดีต การดำเนินการของไทยเรื่องการค้าขายเพื่อหารายได้เข้ารัฐมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว เรียกหน่วยงานที่รับผิดชอบว่า “พระคลังข้างที่” ดูแลโดยโกษาธิบดี พระคลังข้างที่มีข้อห้ามไม่ให้ราษฎรเอาสินค้าบางอย่างไปขายตรงกับต่างประเทศ ต้องขายให้พระคลังข้างที่ ถือเป็นการผูกขาดกับทุนราชสำนัก โดยพระคลังข้างที่จะเป็นผู้ขายกับต่างชาติโดยตรง สินค้าที่รัฐผูกขาดโดยตรง เช่น งาช้าง นอแรด รังนก ครั่ง เป็นต้น ส่วนสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ ราชสำนักจะควบคุมเป็นพิเศษเรื่องกระสุนดินดำและอาวุธปืน
มองภาพรวมในมิติประวัติศาสตร์ด้านเศรษฐกิจแล้ว การดำเนินการลงทุนโดยรัฐหรือราชสำนักในสมัยก่อนนับว่ามีความจำเป็นในการหารายได้มาพัฒนาบ้านเมือง สามารถสรุปได้ว่า รายได้หลักของแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 3 คือรายได้จากการค้าขาย ไม่ใช่จากการเก็บภาษี
เราย้อนไปดูความหมายของ State Capitalism ที่หมายความถึงการลงทุนและการค้าหรือการพาณิชย์ต่างๆที่ผูกขาดและดำเนินการโดยรัฐหรือจัดการโดยรัฐ แม้กระทั่งตัวแทนของรัฐหรือกลุ่มทุนที่มีอิทธิพลครอบงำการตัดสินใจของรัฐล้วนเรียกว่า State Capitalism หรือทุนนิยมโดยรัฐ ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศสังคมนิยม เช่น โซเวียตสมัยสตาลินก็ใช้ทุนนิยมโดยรัฐ โดยควบคุมอย่างเข้มข้น แม้กระทั่งการปราบปรามอย่างรุนแรงเมื่อกรรมกรนัดหยุดงาน จน “ทรอตสกี้” กล่าวว่า ทุนนิยมโดยรัฐและการปราบปรามชนชั้นกรรมาชีพเป็นยุคของกรรมาชีพผุโทรม
อย่างไรก็ตาม เจ้าตำรับลัทธิคอมมิวนิสต์อย่าง “วี.ไอ. เลนิน” ให้ข้อคิดว่า ทุนนิยมโดยรัฐสามารถดำเนินการได้ในระยะสั้นๆเพื่อให้รัฐผ่านพ้นวิกฤต ในปัจจุบันประเทศคอมมิวนิสต์อย่างรัสเซียและจีนที่เป็นสังคมนิยมขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบทุนนิยมโดยรัฐเหมือนกัน ซึ่งโดยข้อเท็จจริงในวิชาเศรษฐศาสตร์ ทุนนิยมโดยรัฐน่าจะเป็นประเทศเสรีนิยมที่เรียกว่า “ทุนนิยมประชาธิปไตย”
มาบัดนี้ถ้าตั้งคำถามว่า การตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติคือทุนนิยมโดยรัฐใช่หรือไม่ คงต้องตอบว่าใช่ แต่ก็ดูแปลกชอบกล ฝ่ายพิจารณากฎหมายจึงไม่ได้บัญญัติเป็นข้อกฎหมายที่จะให้รัฐจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ แต่เขียนไว้เป็นข้อสังเกตให้จัดตั้งคณะกรรมการศึกษาขึ้นมา ซึ่งต่อไปก็ไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไร แต่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ระบุว่ามีนายทหารจำนวนหนึ่งพยายามหว่านล้อมให้รื้อฟื้นโครงสร้างน้ำมันสามทหารขึ้นมาใหม่
เรื่องนี้เป็นมุมมองที่ละเอียดอ่อนมากคือ ฝ่ายภาคเอกชนปฏิรูปพลังงานอยากให้มีความรัดกุมเพื่อให้ทรัพยากรน้ำมันมีผลประโยชน์ถึงรุ่นลูกหลาน จึงต้องการให้มีหน่วยงานมาควบคุมดูแลโดยตรง และอาจต้องเปลี่ยนวิธีการให้สัมปทานเป็นวิธีจัดแบ่งสัดส่วน
ข้อนี้ผมมีคำถามว่า การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยในอดีตก็มีสถานะคล้ายคลึงบรรษัทที่ดูแลด้านพลังงานและปิโตรเลียมอยู่แล้ว ปัจจุบัน ปตท. ได้พัฒนาเป็นบริษัทมหาชน จึงมีคำถามว่า หากมีบรรษัทการปิโตรเลียมแห่งชาติจะบริหารอย่างไร จะมีมืออาชีพบริหารแข่งขันกับบริษัทมหาชนได้หรือไม่ ปัจจุบันเราต้องยอมรับในความเป็นมืออาชีพของ ปตท. แม้บริษัทลูกในเครือก็สร้างรายได้สู่รัฐจำนวนมหาศาล หากตั้งบรรษัทขึ้นมาใหม่แล้ว ปตท. เกิดล้มฟุบลงกลางคัน จะกระทบเศรษฐกิจบ้านเมืองหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ผมเห็นด้วยถ้าจะมีอีกกิจการหนึ่ง แต่ต้องแข่งขันอย่างเป็นธรรม บทเรียนในอดีตที่บริหารแล้วเจ๊งไม่เป็นท่าแบบการบินไทยก็มีมาแล้ว จึงอยากติงให้ทุกฝ่ายนำไปคิดให้รอบคอบ
ผมคิดว่าบรรษัทพลังงานแห่งชาติถ้าจะเกิดก็ต้องดูแลเรื่องนี้เป็นหลักมากกว่าไปเสียเวลาเรื่องสัมปทานน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างเดียว ขณะนี้เวเนซุเอลาที่เคยเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ก็กำลังจนกรอบ ไม่มีเงินซื้อยาให้ราษฎรแล้ว ถามว่าทุนนิยมโดยรัฐมีประโยชน์หรือจำเป็นหรือไม่ ผมคิดว่าต้องดูตามความเป็นจริงที่เหมาะสม สมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามก็เป็นทุนนิยมโดยรัฐ แต่ก็ไปไม่ไหว สุดท้ายจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ทำการปฏิวัติ แต่ก็หนีไม่พ้นรัฐทุนนิยมมาจนถึงปัจจุบัน
ผมคิดว่าบางอย่างอย่าไปฝืนเลย ประเด็นสุดท้าย ถ้าถามว่า State Capitalism มีความจำเป็นหรือไม่ในปัจจุบัน ผมเห็นว่าต้องจำเป็นอย่างเหมาะสม เหมือนโครงการคลองไทยที่เสนอมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีแนวโน้มจะขุดคลองไทยเชื่อมทะเล 2 ฝั่งเข้าหากัน เพราะปัจจุบันช่องแคบมะละกาที่รัฐไทยโบราณยุคศรีวิชัยเคยควบคุมนั้นเริ่มรองรับการขนส่งทางเรือไม่ได้แล้ว ซึ่งผมทราบว่ามีหลายชาติสนใจร่วมลงทุน โดยจีนเป็นโต้โผใหญ่ จะลงทุนมหาศาลถึง 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐ งานนี้ถ้าทำสำเร็จ เศรษฐกิจไทยจะพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือถ้าไม่ใช่การขายฝัน
งานระดับนี้อาจจำเป็นต้องผลักดันองค์กรระดับ State Capitalism เข้ามารับผิดชอบ ถ้าทำสำเร็จก็จะเป็นแบบศรีวิชัย ซึ่งนักประวัติศาสตร์ทั่วโลกเคยยกย่องว่าเป็น 1 ใน 5 จักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เป็นจักรวรรดิทางทะเลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในฐานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก
ผมเห็นด้วยกับ meaning นี้ แต่เรื่องของพลังงานก็อยากฝากไปคิดและพิจารณาข้อสังเกตของกฎหมายให้รอบคอบและรัดกุม รวมทั้งความเป็นธรรมและอยู่กับความจริง ก็ฝากให้คิดเท่านี้
You must be logged in to post a comment Login